รู้ทีหลังว่าเป็นโรคอะไร... เหตุใดจึงเกิดขึ้น??
น่าเห็นใจไม่น้อยดทีเดียวสำหรับคนทำมาหากินที่เป็นหัวหน้าครอบครัว แต่บังเอิญโชคร้ายต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยซึ่งทำให้แขนข้างหนึ่งหมดเรี่ยวแรงไปโดยไม่อาจยกขึ้นมาใช้ประกอบอาชีพหลักที่เป็นรายได้เพียง 1 เดียวสำหรับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนครัวเรือนรวมทั้งส่งเสียเลี้ยงดูลูกที่กำลังเรียน...โดยเหตุเจ็บป่วยกรณีนี้เกิดขึ้นกับ “คุณอนุศักดิ์ หลวงมอย” วัย 42 ปี ได้ไปเข้ารับการตรวจ-รักษาอาการปวดไหล่เรื้อรังที่ “โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม” เมื่อไม่นานมานี้เนื่องจากไม่สามารถยกแขนข้างซ้ายได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้ไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลใกล้บ้านมาก่อนแล้วและได้รับยามาทานพร้อมกับทำกายภาพบำบัดได้ระยะหนึ่งก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแต่อย่างไร จึงส่งผลให้เจ้าตัวเกิดความกังวลมากขึ้นทุกวันด้วยเกรงว่าจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องจักสาน โดยระหว่างทำการผลิตสินค้า “คุณอนุศักดิ์” จะต้องใช้แขนและไหล่ข้างซ้ายเป็นประจำซ้ำ ๆ ทุกวันตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปีแล้วจนกระทั่งมาเกิดอาการเมื่อปีที่แล้วและรักษาไม่ยอมหายจึงตัดสินใจไปปรึกษาคุณหมอที่ “โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม” เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่คุณหมอได้ตรวจวินิจฉัยแล้วอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าเข้าข่ายการเป็นโรคที่มีชื่อว่า... “โรคของข่ายประสาทภายนอกสมอง”...!! โดยขยายความให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “การปวดไหล่เรื้อรัง” ที่มาสร้างความทุกข์ระทมให้กับผู้ป่วยอยู่นั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มคนทำงาน หรือใช้แรงในการยกของหนัก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุจากกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีการใช้อวัยวะซ้ำแบบเดิม ขยับร่างกายในท่าเดิมซ้ำ ๆ อยู่เป็นอาจิณ จึงส่งผลให้อวัยวะบางส่วนในรางกายเกิดปัญหาในการใช้งาน คือใช้งานได้ไม่ปกติดังเดิมเหมือนอย่างที่เกิดกับ “คุณอนุศักดิ์” ไม่มีผิด...
“โรคของข่ายประสาทภายนอกสมอง” รุนแรงได้หลายระดับ
คุณหมอผู้ตรวจจนสามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยรายนี้คือ “นพ.พิชญ์ หรรษาศิริพจน์”... แพทย์ชำนาญเฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู... ประจำ “โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม” ได้ให้ความกระจ่างอีกด้วยว่า
“... สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคของข่ายประสาทภายนอกสมองอาจเป็นผลจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายต่าง ๆ เช่น กระดูกเกิดภาวะเสื่อมแล้วมากดทับเส้นประสาท หรือมิฉะนั้นก็เกิดการเสื่อที่หมอนรองกระดูกมากดทับเส้นประสาท...หรือมีภาวะกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง...ข่ายประสาทบาดเจ็บ เป็นผลให้มีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า เป็นต้น... ทั้งนี้การรักษาโรคของข่ายประสาทภายนอกสมองในผู้ป่วยบางรายนั้นอาจต้องใช้เวลา ซึ่งในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถรักษาหายได้ เว้นแต่ในบางรายที่อาการรุนแรงมากจนเส้นประสาทขาดก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นประสาท โดยสิ่งที่เกิดขึ้นตามมานั้นอาจจะไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายเกิดการทรมานจากอาการปวดเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย...”
เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนและตรงเป๊ะกับภาวะอาการที่เกิดขึ้นและสร้างความทุกข์ให้แก่ “คุณอนุศักดิ์” มาเป็นเวลานานหลายเดือนจนไม่มีกะจิตกะใจในการทำมาหากิน... ซึ่ง “คุณหมอพิชญ์” ได้ยกกรณีนี้มาอธิบายเพิ่มเติมว่า
“... อาการปวดไหล่ จากข่ายประสาทบาดเจ็บจะมีความรุนแรงหลายแบบ ซึ่งจะสามารถประเมินความรุนแรงของอาการบาดเจ็บได้จากการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยที่จะสามารถบอกได้ว่าคนไข้มีความบาดเจ็บรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด และโอกาสในการฟื้นตัวจะมีความเป็นไปได้มากหรือน้อยขนาดไหน ซึ่งหากตรวจพบในรายที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากจะสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอ่อนแรงที่แขนหรือว่าที่มือแต่มีระดับอาการที่น้อยสามารถขยับแขนและงอแขนได้บ้าง แต่อาจจะออกแรงได้ไม่เต็มที่เหมือนแขนอีกข้างที่ใช้ได้ตามปกติ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงมากผู้ป่วยบางรายคือไม่สามารถขยับแขนได้เลยเนื่องจากตัวร่างแหประสาท ควบคุมกล้ามเนื้อแขนและมือทั้งหมด ฉะนั้นอาการบาดเจ็บที่รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อแขนข้างนั้นได้เลย”
ไม่คิดว่าเทคโนฯ กระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กช่วยได้!?!?
สรุปว่าผลการตรวจช่วยให้คุณหมอประเมินอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นว่า“...ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บบริเวณข่ายประสาทแขนข้างซ้ายแต่ไม่ได้เป็นการบาดเจ็บทั้งหมด เป็นเพียงอาการบาดเจ็บในบางส่วน และยังมีโอกาสที่ตัวข่ายประสาทในส่วนนี้จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ โดยหมอได้วางแผนการรักษาด้วยการทำกายภาพและการกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งเป็นแผนการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ รามรักษาให้แก่คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับเส้นประสาทอยู่แล้ว แต่เมื่อผ่านไป 2-3 เดือนยังพบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงเท่าเดิมและอาการไม่ดีขึ้น จึงได้ปรับแผนการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เรียกอย่างย่อว่า TMS โดยได้เปลี่ยนจากการกระตุ้นที่บริเวณศีรษะมากระตุ้นบริเวณข่ายประสาทที่แขนโดยเฉพาะ เพื่อเร่งการทำงานและเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ และหลังจากที่ได้ทำการรักษาไปในครั้งแรกแล้วได้ทิ้งระยะเวลาราว 1 สัปดาห์ได้กลับมาตรวจอาการซ้ำแล้วทำการกระตุ้นในครั้งที่ 2 จึงเห็นผล โดยพบว่าอาการอ่อนแรงของผู้ป่วยลดลงจากเดิมที่ไม่สามารถยกแขนขึ้นได้เลยนั้น หลังจากที่เริ่มทำการกระตุ้นครั้งแรก เริ่มยกแขนขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง การออกแรงกล้ามเนื้อก็เริ่มดีขึ้น จึงได้ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง...”
จากนั้น “คุณหมอพิชญ์” ได้อธิบายเสริมเกี่ยวกับหลักการของเครื่องกระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งจะมีตัวผลิตคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา ซึ่งเมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปในร่างกายของที่บริเวณสมองก็จะเปลี่ยนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมอง เพราะโดยปกติร่างกายของคนเรามีกระบวนการการสื่อสารจากสมองลงมาที่ตัวกล้ามเนื้อโดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นหลักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้เข้าไปกระตุ้นแล้วเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นมาก็เหมือนกับสมองถูกกระตุ้นให้มีการสั่งงานมากขึ้น...หรือถ้าหากเราใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นตรงตำแหน่งกล้ามเนื้อ หรือตำแหน่งเส้นประสาทบริเวณอื่น ก็จะเหมือนกับการจำลองการเลียนแบบการส่งกระแสไฟฟ้าจากสมองควบคุมที่ตัวกล้ามเนื้อ ก็ทำให้สามารถมีการขยับได้ เคลื่อนไหวได้ และก็สามารถกระตุ้นการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บ หรือกระตุ้นสมองที่มีการบาดเจ็บให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นได้...และนั่นคือเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีส่วนอย่างมากต่อการบำบัดรักษาอาการของ “คุณอนุศักดิ์” ซึ่งเจ้าตัวเผยในเวลาต่อมาว่า
“...ตอนแรกที่คุณหมอได้แนะนำเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับกระตุ้นเส้นประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้ทำควบคู่กับการทำกายภาพบำบัดนั้น ผมก็ยังกังวลอยู่ว่าทำแล้วจะหายเป็นปกติหรือไม่ แต่หลังจากได้รับการรักษาฟื้นฟูแล้วอาการปวดไหล่ก็ค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนสามารถใช้งานแขนข้างซ้ายได้ตามปกติ ซึ่งเมื่อทำงานได้ก็ช่วยให้สุขภาพจิตของผมดีขึ้นเช่นกันครับ...”
ประโยชน์ยิ่งยวดจากความก้าวหน้าทางการแพทย์
ของแถมปิดท้ายที่ “หมอจอแก้ว” เห็นว่ามีประโยชน์ทีเดียวคือ...อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อแบบฉับพลันไม่ได้ส่งผลร้ายต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเสมอไป หากแต่ผู้ป่วยควรต้องทำความเข้าใจโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุดโดยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อให้ทราบรายละเอียดของโรคหรืออาการที่เป็น จะได้มีแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ตรงจุดและนำไปสู่ผลการรักษาให้หายเป็นปกติ ประกอบกับความก้าวหน้าของวงการแพทย์ได้ส่งผลให้มีเทคโนโลยีในการรักษาโรคเกี่ยวกับสมองด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งกลายมาเป็นกระบวนการรักษาแบบทางเลือกที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการรักษาแบบทางหลักได้อย่างปลอดภัย และมีการนำมาใช้กับโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองหรือกล้ามเนื้ออย่างเห็นผล โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าการบำบัดด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูและลดอาการเกร็งของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ “โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม” นำมาให้บริการภายใต้การควบคุมดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้การวางแผนการรักษา ประเมินการรักษาตลอดทั้งการใช้เทคโนโลยีทางเลือกช่วยรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างปลอดภัยและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพสำหรับชาวเหนือนั่นเอง