แพทย์หญิง พุทธรักษา รัชชกูล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า การบำบัดรักษาฟื้นฟูโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยฝึก "Mirror Hand “...เป็นเทคโนโลยีที่หุ่นยนต์ออกแบบมาให้ติดตั้งเข้ากับมือด้านที่อ่อนแรงของผู้ป่วย หุ่นยนต์จะช่วยขยับมื การฝึกทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การกำมือหยิบของ ปล่อยของ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของมือในการทำกิจวัตรประจำวัน นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการเกร็งมือหุ่นยนต์สามารถออกแรงช่วยกางนิ้วมือออกเพื่อลดอาการเกร็งได้ และสาเหตุที่ชื่อว่า Mirror Hand นั้น ในทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นที่รู้จักกันดีเรื่องการบำบัดด้วยภาพสะท้อนจากกระจกเงา หรือ mirror therapy ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง โดยดั้งเดิมแล้ว จะนำกระจกเงามาตั้งระหว่างมือสองข้างโดยส่องไปทางด้านปกติ ให้ผู้ป่วยขยับมือข้างปกติ และพยายามให้ข้างอ่อนแรงทำตาม เพื่อเป็นการลวงให้สมองคิดว่ามือด้านอ่อนแรงสามารถ ขยับได้ ซึ่งหุ่นยนต์มือทำให้การฝึก mirror therapy มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใส่ถุงมือที่ต่อเข้ากับหุ่นยนต์ ในข้างที่ปกติ เมื่อมือข้างปกติในถุงมือขยับ หุ่นยนต์จะช่วยขยับมือข้างที่อ่อนแรงตามไปด้วยเสมือนการสะท้อนแบบกระจกเงา ซึ่งการฝึกแบบ mirror therapy มีหลักฐานทางการแพทย์รับรองว่าเสริมผลดีด้านการฟื้นของระบบประสาทสั่งการของแขนและมือ และการปฏิบัติกิจกรรมประจำวันได้ดีขึ้นในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
นอกจากหุ่นยนต์จะจับมือผู้ป่วยทำกิจกรรมแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการทำให้ท่าทางการเคลื่อนไหวของมือเป็นไปในแบบแผนที่ถูกต้องด้วย เนื่องจากปกติแล้ว การฟื้นตัวของมือ จะค่อยๆเริ่มจากท่ากำมือ ยังไม่สามารถเหยียดนิ้วแบมือได้ หากผู้ป่วยมีแรงเพียงบางส่วน การขยับใช้งานมืออาจเป็นท่าที่ผิดได้ และการฝึกทำซ้ำ ๆ ช่วยให้สมองส่วนที่เสียหายหรือบริเวณโดยรอบมีการปรับซ่อมแซมฟื้นฟูกลับมา (neuroplasticity) รวมไปถึงเป็นการฝึกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นคืนของแรงมือ ป้องกันข้อติด ลดอาการเกร็ง ลดอาการบวม โดยระหว่างการฝึกมือกับหุ่นยนต์ภายใต้การดูแลของนักกิจกรรมบำบัด จะมีการกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิกับการฝึก ทำให้ฝึกได้ต่อเนื่อง และเป็นผลดีต่อผลลัพธ์ของการฟื้นฟู โดยหุ่นยนต์ฝึกมือนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดสมองหรือโรคอื่นๆทางระบบประสาทที่มีอาการอ่อนแรงมือตั้งแต่ไม่มีแรงเลย ไปจนถึงมีแรงบางส่วน เป็นลักษณะการอ่อนแรงแบบปวกเปียกหรือมีความเกร็งระดับปานกลางก็ได้ และสามารถทำตามสั่งได้อย่างน้อย 1 ขั้นตอน โดยสามารถใช้กับผู้ป่วยทั้งในโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นระยะกึ่งเฉียบพลัน หรือเป็นเรื้อรังแล้วก็ได้…”