ข้อเข่าเสื่อม เรื่องที่ควรรู้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
December 07 / 2017

ข้อเข่าเสื่อม

เรื่องที่ควรรู้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

 

 

 

ข้อเข่าคืออะไร ?

 

ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน คือ กระดูกส่วนต้นขา (thigh bone หรือ femur ) กระดูกส่วนหน้าแข้ง (shin bone หรือ tibia ) เมื่อคนไข้งอเข่าหรือยืดเข่า ส่วนที่มนตรงปลายสุดของกระดูกต้นขาจะหมุนอยู่บนกระดูกส่วนหน้าแข้ง กระดูกส่วนที่ 3 เรียกว่า กระดูกลูกสะบ้า (patella) ซึ่งจะติดกับกล้ามเนื้อด้านหน้าของเข่า เป็นตัวช่วยในการเคลื่อนไหว และลดการเอียงหรือบิดของกล้ามเนื้อ

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะต้องได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจะเป็นผู้ตรวจอาการของข้อเข่าผู้ป่วย ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการงอเข่า เช่น งอได้มากสุดเท่าไรหรือยืดขาได้มากแค่ไหน แพทย์จะตรวจถึงลักษณะของข้อเข่าด้วย ซึ่งอาจจะมีผิดปกติโดยมีทั้งขาโก่งออกหรือโก่งเข้าก็ได้อาจจะต้องเดินหรือขึ้นลงบันไดให้แพทย์ได้วินิจฉัยด้วย ท้ายสุดแพทย์จะทำการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ซึ่งจะเป็นวิธีการวินิจฉัยโรคที่สามารถตรวจความผิดปกติของข้อเสื่อมได้ดี ถ้าในกรณีที่คนไข้ต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ภาพถ่ายเอ็กซเรย์เหล่านี้จะเป็นส่วนช่วยแพทย์ในการเลือกชนิดและขนาดของข้อเทียมที่ถูกต้อง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นควรที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดว่าการรักษาโดยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งหมายรวมถึงการซักประวัติการใช้ยาหรือการได้รับการฉีดยาสำหรับลดอาการเจ็บปวดหรืออักเสบบวม การทำกายภาพบำบัดหรือการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น การตัดสินใจจะรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นคนไข้ควรจะต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงที่คนไข้อาจจะได้รับ ซึ่งอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนในขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดก็ได้ โดยทั่วไปภาวะแทรกซ้อนจะรวมถึงการติดเชื้อ, ภาวะเลือดจับตัวเป็นก้อน, ปอดอักเสบ, ข้อเทียมเกิดความหลวม หรือเส้นประสาทอักเสบ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้ได้เป็นอย่างดี


อะไรคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?

 

ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม กระดูกส่วนที่เสียดสีกันจะถูกตัดออกและแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะและพลาสติก มีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจวัดก่อนที่แพทย์จะทำการตัดกระดูกส่วนที่เสื่อมออกทั้ง 3 ส่วน พื้นผิวของกระดูกส่วนบนจะถูกเปลี่ยนเป็นโลหะที่มีลักษณะมนซึ่งจะเข้าและสมดุลกับโครงสร้างของกระดูกอย่างเป็นธรรมชาติ พื้นผิวของกระดูกส่วนล่างจะถูกเปลี่ยนเป็นโลหะที่เรียบโดยจะมีแผ่นพลาสติก (Polyethylene) ที่รองรับน้ำหนักได้ดีรองอยู่ด้านบนทำหน้าที่คล้ายกับกระดูกอ่อนตรงส่วนของใต้พื้นผิวของกระดูกลูกสะบ้าอาจจะถูกปรับพื้นผิวของกระดูกเช่นกัน ซึ่งจะแทนที่โดยพลาสติก (Polyethylene) ซึ่งมีลักษณะกลมคล้ายกับส่วนของกระดูกลูกสะบ้า

ข้อเข่าเทียม

ข้อเข่าเทียมจะมีอายุการใช้งานนานเท่าไร ?

 

อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น ลักษณะร่างกายของผู้ป่วย ระดับกิจกรรม น้ำหนัก และความถูกต้องแม่นยำของการผ่าตัด ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ผู้ป่วยหลายคนพอใจกับการลดความเจ็บปวดและใช้งานได้ดีขึ้นของข้อเข่าเมื่อเปรีบยเทียบกับการผ่าตัด

 

 

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีการผ่าตัด

 

โรคข้อเข่าเสื่อมนับวันจะมีแต่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจาก คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด คือผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่หาย การผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในปัจจุบันการแพทย์ได้พัฒนาขึ้นมามากทำให้การผ่าตัดประสบผลความสำเร็จสูงสุดแพทย์ต้องพบผู้ป่วย ซักประวัติและตรวจดูว่า เข่าเสื่อมอยู่ในชั้นตอนไหนเพื่อเลือกวิธีผ่าตัดที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยและทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ต้องเอ็กซเรย์ดู ในบางรายที่ก้ำกึ่งอาจจะต้องส่องเข้าไปดูก่อนว่าจะเลือกผ่าตัดวิธีใด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ตามสภาพของเข่าตามปกติส่วนที่รับน้ำหนักของเข่าจะมีอยู่ 2 ซีก ในหนึ่งเข่ายังไม่นับลูกสะบ้าที่อยู่ด้านหน้าเข่า

 

  • ถ้าเสื่อมเพียงซีกเดียวก็ผ่าตัดตั้งแนวรับน้ำหนักใหม่ คือตั้งศูนย์ใหม่
  • ถ้าเสื่อมทั้ง 2 ซีก ก็ต้องเปลี่ยนเข่าเทียม

 

 

การผ่าตัดข้อเข่าเทียมเป็นอย่างไร

 

ก่อนการผ่าตัด แพทย์และคนไข้มีการตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเที่ยมแล้ว แพทย์จะนัดผ่าตัดให้กับคนไข้ ซึ่งอาจจะต้องมีการตรวจเช็คและเตรียมความพร้อมของคนไข้อย่างละเอียดและรอบคอบ เช่น แพทย์จะให้คนไข้ทำการตรวจสุขภาพโดยละเอียดกับแพทย์อายุรกรรมเนื่องด้วยการผ่าตัดอาจจำเป็นจะต้องมีการให้เลือดในบางกรณี การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนไข้ด้วย

 

  • หลังจากการผ่าตัด หลังจากคนไข้ฟื้นจากยาสลบแล้ว คนไข้จะค่อยๆรู้สึกตัว พยาบาลอาจจะให้คนไข้ไอหรือสูดอากาศเข้าลึกๆ เพื่อทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น คนไข้จะได้รับยาแก้ปวด และเมื่อคนไข้ฟื้นตัวเต็มที่แล้วจะถูกนำตัวไปที่ห้องพักคนไข้ แผลที่เข่าจะมีอาการบวมอยู่ประมาณ 2-3 วัน

 

คนไข้จะได้รับการดูแลอย่างไรหลังจากการผ่าตัด ? 

 

เมื่อคนไข้ได้กลับไปที่ห้องพักคนไข้แล้ว คนไข้จะได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยให้เข่าของคนไข้แข็งแรง, เพิ่มความสมดุลในการทรงตัว, และเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้คนไข้ได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หลังการผ่าตัด 24 ชั่วโมง คนไข้อาจจะต้องยืนขึ้น และหลังจากอีก 24 ชั่วโมง คนไข้อาจจะต้องเริ่มเดินประมาณ 2-3 ก้าว โดยใช้เครื่องช่วยในการช่วยเดินแบบ 4 ขา หรือที่เรียกว่า (walker) คนไข้จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เมื่อแพทย์เห็นสมควรว่าคนไข้ได้ฟื้นตัวและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ซึ่งผ้าพันแผลและไหมเย็บแผลอาจจะถูกตัดออกก่อนที่คนไข้จะกลับบ้านเมื่อคนไข้กลับบ้านแล้วจำเป็นจะต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ทำกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการออกกำลังกายก่อนคนไข้จะกลับบ้าน

 

 

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ?

 

ผู้ป่วยมักได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ประมาณ 5-10 วัน หลังจากการผ่าตัด โดยก่อนกลับบ้านควรงอข้อเข่า ได้อย่างน้อย 90 องศา อาการทั่วไปไม่มีไข้ บริเวณแผลผ่าตัดดูดี และเดินได้ดีพอสมควร ในระยะแรกหลังจากการผ่าตัดเข่าจะบวมและอุ่น อาการบวมจะมักจะหายไปภายใน 3 เดือน ส่วนอาการเข่าอุ่น จะเข้าสู่ปกติประมาณ 6-12 เดือนหลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการชาบริเวณด้านนอก ของแผลผ่าตัดได้โดยทั่วไปประมาณ 3-6 เดือน บริเวณที่ชาเล็กลงไม่เป็นที่รำคาญ ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าผลการผ่าตัดดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากการผ่าตัดประมาณ 6-12 สัปดาห์ เป็นต้นไป อนึ่งผู้ป่วยควรทราบว่า หลังจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียง คลิก เกิดขึ้นในขณะเหยียดหรืองอข้อเข่าซึ่งถือว่าเสียงนี้เป็นเสียงปกติ

 

หลังจากการผ่าตัด 6 อาทิตย์ คนไข้จะสามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วย คนไข้ในบางคนอาจจะสามารถขับรถได้หลังจากผ่าตัดประมาณ 7-8 สัปดาห์ โดยส่วนมากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมสามารถทำให้คนไข้กลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้เหมือนเดิม

 

 

  • การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดเมื่อสามารถเดินได้แล้ว  โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการปวดข้อเข่ามากหรือข้อเข่าโก่งมากเวลาเดินแล้วมีอาการปวดซึ่งเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม อาการปวดข้อเข่านี้มักจะทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันได หรือ พยายามเคลื่อนไหวข้อเข่าที่ปวดเท่าที่จำเป็นจึงมักพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้ มักมีกำลังของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะส่วนหน้าของความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วหากยังมีความกังวลใจเรื่องข้อที่เปลี่ยนมานั้นจะหลุดหรือหลวมได้จึงยิ่งทำให้มีการบริหารกล้ามเนื้อส่วนหน้าขาน้อยกว่าที่ควรจะทำส่งผลให้ความแข็งแรงของขาข้างที่ทำการผ่าตัดแข็งแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

  • บริหารกล้ามเนื้อและฝึกการเหยียดงอข้อเข่า  ผู้ป่วยควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าอย่างสม่ำเสมอ และฝึกการเหยียดงอข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปการเหยียดงอข้อเข่ามักเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาที่ควรฝึกบริหารอย่างเต็มที่และควรงอข้อเข่าได้อย่างน้อย 100 องศา ผู้ป่วยทุกคนจะรู้สึกว่าตึงและปวดข้อเข่าขณะพยายามงอข้อเข่า แต่พบว่าเมื่อผู้ป่วยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว อาการปวดและตึงมักน้อยลงจนหายไป ผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินว่าได้ผลการรักษาดี คือ เดินแล้วไม่มีอาการปวดเหมือนก่อนการผ่าตัด มีแนวของขาข้างที่ผ่าตัดอยู่ในแนวที่ดีมีการเหยียดได้สุดหรือเกือบสุด และงอข้อเข่าได้ประมาณ 100 องศาขึ้นไป

การบริหารข้อเข่า

 

  • เมื่อข้อเข่าเริ่มเข้าสู่ภาวะคงที่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 6 เดือน ข้อเทียมจะมีความแข็งแรงเสมือนว่าเป็นข้อเข่าของผู้ป่วยเอง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าข้อจะหลุดออกมา ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ ขึ้นลงบันไดได้ สามารถออกกำลังกายเช่น เดินเร็วๆ รำมวยจีน เล่นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ กอล์ฟ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเช่น การวิ่งเร็ว การกระโดดอย่างต่อเนื่อง การเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น เทนนิส เป็นต้น การนั่งที่เหมาะสม ควรนั่งบนเก้าอี้ มีผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่สามารถนั่งยองๆ หรือขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบได้