โรคปอดอักเสบ
December 07 / 2017

โรคปอดอักเสบ

 

 

โรคปอดอักเสบ หรือเรียกว่าโรคปอดบวม เป็นโรคติดต่อชนิดเฉียบพลันที่มีการอักเสบของเนื้อปอด หลอดลมขนาดเล็ก หลอดลมฝอยถุงลม 


สาเหตุเกิดจากเชื้อโรคหลายชนิด

 

  1. จากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในปาก จมูก และ คอ

  2. โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคสุกใส และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

 

 

การติดต่อสามารถติดต่อได้ 4 ทาง

 

  • หายใจเอาเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในอากาศ

  • สำลักเอาเชื้อโรคที่อยู่บริเวณช่องปากเข้าสู่ปอด

  • แพร่กระจายจากตำแหน่งที่เป็นโรคตามส่วนต่างๆของร่างกายผ่านมาตามกระแสโลหิตเข้าสู่ถุงลม

  • เชื้อโรคจากการอักเสบที่บริเวณใกล้ๆ ปอด เช่น ตับ หลอดอาหาร แล้วกระจายลุกลามเข้าสู่ปอดโดยตรง 

โรคปอดอักเสบสามารถติดต่อได้ตลอดจนกระทั่งเชื้อโรคหมดไปจากน้ำมูกน้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย 


อาการปอดอักเสบเป็นอย่างไร


อาการของโรคอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ เช่น ถ้าติดเชื้อบริเวณหลอดลม อาจแสดงอาการไอมากกว่าอาการอื่นๆ ในกรณีการติดเชื้อในเนื้อปอด จะส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนมีปัญหาแล้วทำให้เห็นปากเขียว มือเขียว ม่วงคล้ำเพราะขาดออกซิเจน เริ่มแรกอาการคล้ายเป็นโรคหวัด เช่นมีอาการไอ จาม เจ็บคอ หลังจากนั้นอาจมีไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย เจ็บชายโครงตามมาได้

 

ความรุนแรงของโรค


ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพของผู้ป่วยและชนิดของโรค ในบางรายอาการของผู้ป่วยอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกลุ่มผู้สูงอายุ อาการอาจแสดงไม่ชัดเจนอย่างไรก็ตาม หากไม่ทำการรักษาให้ทันท่วงที หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
 


รักษาอย่างไร

    

 

แพทย์อาจรักษาตามอาการในบางกรณีแพทย์ให้รับประทานยาต้านไวรัส หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น  แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อ ประเภท และ สายพันธุ์ ของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการป่วย ผู้ป่วยส่วนมากที่ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบอาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ คุณควรต้องดูแลอาการที่โรงพยาบาลหรือเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

  • อายุมากกว่า 65 ปี

  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด เบาหวาน ไตวาย มีปัญหาเกี่ยวกับโรคตับ

  • ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือไม่สามารถบอกใครได้ หากมีอาการแย่ลง

  • มีอาการเจ็บหน้าอก หรือไม่สามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้ หรือมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย

  • ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ มีอาการเหนื่อยหอบควบคู่กันไป

 

 

การป้องกันโรค

 

  • การป้องกันก่อนการเกิดโรค โดยการรับวัคซีน Pneumococcal vaccine และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

  • ควรงดสูบบุหรี่

 

 

การควบคุมและป้องกันเมื่อเกิดโรค

 

  1. พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

  2. ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยการใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการไอ จาม

  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย

  4. กรณีผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี และป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ นอนโรงพยาบาลเมื่อหายแล้ว ควรได้รับวัคซีนก่อนกลับบ้าน หรือวันนัดตรวจซ้ำ
    เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ