อันตราย โรคไข้เลือดออก
December 07 / 2017

 

 

อันตราย โรคไข้เลือดออก

 

 


โรคไข้เลือดออก เกิดจากอะไร


โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Dengue Virus โดยมี ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุ 5-14 ปี มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงกันยายน

อาการของโรคไข้เลือดออกที่ควรระวัง


หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่ง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยชีวิต และป้องกันภาวะแทรกซ้อน

  • มีอาการไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
  • ซึมลง อ่อนเพลียมาก หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียนตลอดเวลา
  • มีเลือดออกตามร่างกาย เช่น เลือดกำเดา อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิด พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ
  • กระหายน้ำตลอดเวลา ในเด็กเล็กร้องกวนตลอดเวลา
  • ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลายๆ
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานาน

เมื่อเป็นไข้เลือดออกควรดูแลอย่างไร

 

  • หากมีไข้ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นบ่อยๆ สวมเสื้อผ้าที่ไม่หนามาก ห่มผ้าบางๆ
  • หากมีไข้ ควรรับประทานยาพาราเซตามอล ห่างกันอย่างน้อย ทุก 4 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย ห้ามฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อและไม่รับประทานยาอื่นที่ไม่จำเป็น
  • ผู้ป่วยควรได้รับน้ำทดแทน เพราะการมีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว หากมีอาการอาเจียนให้ดื่มครั้งละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
  • เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น จะเริ่มมีความอยากอาหาร ควรให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่ายรสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก และงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดงเพราะถ้าอาเจียนจะแยกไม่ได้ว่าเป็นเลือดหรือไม่

 

 

จะป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร

 

  • กำจัดลูกน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกแห่งในบ้านและรอบบริเวณบ้าน เพราะยุงลายจะวางไข่ในน้ำนิ่ง เช่น น้ำขังในที่ต่างๆ ดังนั้น จึงควรปิดฝาภาชนะเก็บน้ำและทำลายภาชนะต่างๆ ที่เป็นแหล่งน้ำขัง หรือใช้ทรายอะเบท หรือเกลือใส่ในน้ำเพื่อทำลายลูกน้ำยุงลาย
  • กำจัดยุง ด้วยการพ่นสารเคมีในมุมอับภายในบ้าน และรอบๆบ้านทุกสัปดาห์
  • ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะในเวลากลางวันเนื่องจากยุงลายมักชอบหากินในเวลากลางวัน ดังนั้นควรนอนในมุ้ง หรืออยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ และลมพัดผ่านได้สะดวก

หากท่านหรือบุคคลคนใกล้ชิดมีไข้สูง ทานอาหารได้น้อย อาเจียนตลอดเวลาพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ ควรรีบพบแพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน