ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายสำหรับคุณแม่ที่ต้องระวัง
May 05 / 2025

ภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

คุณแม่หลายคนอาจไม่รู้ว่าภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมันจะไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใดๆ ที่ชัดเจนในช่วงแรก ฉะนั้นการสังเกตอาการและการตรวจครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากรู้ตัวเร็ว ก็มีโอกาสดูแลรักษาได้อย่างปลอดภัย

ภาวะครรภ์เป็นพิษคืออะไร

เป็นภาวะที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบหลอดเลือดและการไหลเวียนโลหิตในร่างกายของแม่ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของ ไต ตับ และสมอง

ลักษณะเด่นของภาวะนี้คือ มีความดันโลหิตที่สูงผิดปกติ ร่วมกับพบโปรตีนหรือไข่ขาวปนในปัสสาวะ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น บวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว

อาการของครรภ์เป็นพิษ

  • ความดันโลหิตสูงกว่า140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

  • มีโปรตีนหรือไข่ขาวปะปนในปัสสาวะ

  • มีอาการบวมที่ใบหน้า มือ หรือขา มากกว่าปกติ

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 1–2 กิโลกรัมภายในหนึ่งสัปดาห์ (โดยปกติคุรแม่ตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักเพิ่มเดือนละ 1.5 – 2 กิโลกรัม)

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

  • สายตาพร่ามัว

  • มีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ

  • คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ครั้งแรก

  • คุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี

  • มีกรรมพันธุ์พบว่าคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน

  • ตั้งครรภ์แฝด

  • คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณแม่และลูกในครรภ์

ภาวะครรภ์เป็นพิษหากปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับคุณแม่

 

  • ภาวะความดันโลหิตสูงรุนแรง

  • อาจเกิดอาการชัก

  • เกิดอาการภาวะตับหรือไตทำงานผิดปกติ

  • HELLP Syndrome คือความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เลือด และความดันโลหิตในขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก

  • ส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้า

  • เกิดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

  • หากมีการอาการรุนแรงอาจทำให้ทารกเสียชัวิตในครรภ์

 

การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

การรักษาครรภ์เป็นพิษแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแพทย์จะแนะนำให้เร่งคลอดหรือผ่าคลอดโดยทันที หากอายุครรภ์น้อยและอาการไม่รุนแรงแพทย์จะคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะตรวจวัดความดันโลหิต น้ำหนัก ปัสสาวะ รวมไปถึงเฝ้าระวังอาการแทรกว้อนต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ในบางกรณีแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาควบคุมความดันโลหิต หรือ ยาแมกนีเซียมซัลเฟตเพื่อป้องกันอาการชัก ตามความเหมาะสมแต่ละคน

วิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ถึงแม้ภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่มีวิธีที่ป้องกันได้แบบ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้หากดูแลสุขภาพตัวเองอย่างเหมาะสม และ เข้ารับการตรวจครรภ์หรือดำเนินการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเพื่อติดตามพัฒนาการทารกได้อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการตรวจหาความผิดปกติ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต หรือ ตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ

 

หากคุณแม่ท่านใดต้องการที่จะตรวจหาความผิดปกติของครรภ์ทางโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม แนะนำให้คุณแม่ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางรวมไปถึงการเข้ารับการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเพื่อให้ติดตามสุขภาพของคุณแม่และเด็กในครภ์ให้คลอดออกมาได้อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพที่แข็งแรง 

 

หากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการฝากครรภ์ติดต่อแผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม โทร 052-004699 ต่อ 1500


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: ประโยชน์ของการฝากครรภ์กับโรงพยาบาล