ศูนย์บอลลูนหลอดเลือดหัวใจ

รายชื่อศูนย์การแพทย์หรือคลินิกของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม

ศูนย์บอลลูนหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม

     ในปัจจุบันพบว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของเกือบทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีับตัน เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสอง รองจากอุบัติเหตุ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่าน ควรรู้และเข้าใจถึงอาการที่สำคัญของโรคนี้ เพื่อการดูแลและป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (Ischemic Heart Disease / IHD) หรือ โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ (Coronary Artery Disease / CAD) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดจาก การตีบของหลอดเลือดแดง ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ ที่เรียกว่า หลอดเลือดโคโรนารี่ (Coronary Artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง หรือ หยุดชะงักไป เมื่ออยู่ในภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจ ต้องการออกซิเจนมากขึ้น เช่น มีการออกแรงมาก ๆ การมีอารมณ์โกรธ หรือความเครียด เป็นต้น ก็จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น เราเรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (Angina pectoris) แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดโคโรนารีเกิดการอุดตัน เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ซึ่งมักจะมีภาวะช็อก และหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction) โรคนี้มักพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรก เมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

     ศูนย์บอลลูนหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม   พร้อมให้บริการในการตรวจวินิจฉัย และ รักษาโรคหัวใจ และ หลอดเลือดด้วยอุปกรณ์พิเศษ ในการดูแล และ ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ การรักษา การติดตามดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ เทคโนโลยีอันทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากล ประกอบด้วย

 

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง  (CT 128 Slices)

     สำหรับการตรวจหัวใจและเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ที่ให้ความละเอียดของภาพสูง แม่นยำ ใกล้เคียงกับการใส่สายสวน ผ่านหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และ สามารถถ่ายภาพได้ในขณะที่หัวใจเต้น ทั้งนี้ ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งปริมาณ แคลเซียม หรือ หินปูน ที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้น ภายหลังการตรวจสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เครื่อง CT – 128 slices นี้ นอกจากเป็นที่ยอมรับในการตรวจหลอดเลือดหัวใจแล้ว ยังสามารถ ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะ ในส่วนอื่นๆ ได้อีก เช่น

  • ตรวจหาเนื้องอกระยะเริ่มต้นในลำไส้ใหญ่
  • ตรวจหาเนื้องอกระยะเริ่มต้นในเนื้อเยื่อปอด
  • ตรวจหาความผิดปกติของกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง และหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อในช่องท้อง

 

เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram / EKG)

     เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ โดยจะมีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้า อัตรา และ จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ การตรวจด้วยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการตรวจที่ง่าย และ สะดวก ไม่เจ็บตัว

 

เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชนิดติดตามตัว (Holter Monitor)

     ในผู้ป่วยบางรายที่มารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วไม่พบความผิดปกติในขณะนั้น แต่ผู้ป่วยอาจจะยัง มีอาการที่น่าสงสัยว่าหัวใจ อาจมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทราบว่าเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

 

เครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)

     เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยการเดินบนเลื่อน หรือ ปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่าภายใต้สภาวะที่หัวใจทำงานมากขึ้น ความต้องการจากเลือด ที่หล่อเลี้ยงมากขึ้น นั้นจะมีปริมาณเลือดมาเลี้ยงพอหรือไม่ ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันอยู่ เมื่อทำการทดสอบ คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างชัดเจนและบ่งบอกระดับความรุนแรง ของโรคว่าต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการสวนหัวใจแล้วหรือยัง

 

เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)

     เป็นการตรวจหัวใจจากภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ช่วยในการตรวจหัวใจ ด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวและการบีับตัวของหัวใจว่า ปกติ หรือ ไม่ รูปร่างของหัวใจ ความหนาของผนังกล้ามเนื้อหัวใจ ตรวจดูความพิการ หรือ ความผิดปกติของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และโรคหัวใจชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะใช้การรักษาด้วยยา หรือ การผ่าตัด และ พยากรณ์โรคได้ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ จะไม่มีอันตรายและความเจ็บปวดใดๆ ใช้เวลาในการตรวจ ประมาณ 20-30 นาที 

 

ห้อง ไอซียู เคลื่อนที่ (Mobile ICU / CCU) 

     เป็นรถพยาบาลยุคใหม่ ที่ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูงไว้ภายในอย่างครบครัน และ มีมาตรฐานเดียวกับ ห้อง ไอซียู ในโรงพยาบาล โดยมีทีมแพทย์ และ พยาบาลคอยดูแลตลอดการเดินทาง สู่โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ภายในรถประกอบด้วย

  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) สามารถกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้บีับตัว ในกรณี หัวใจหยุดเต้น เต้นช้ากว่า หรือ เต้นผิดปกติ 
  • เครื่องติดตามการเต้นของหัวใจ (Monitor EKG) สามารถจับภาพกราฟหัวใจ และวัดระดับ ของปริมาณออกซิเจนในเลือด
  • เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด (O2 Saturation Monitor) เพื่อประเมินการหายใจ และ วัดระดับของปริมาณออกซิเจนในเลือด
  • เครื่องช่วยหายใจ (Respirator / Ventilator) เพื่อช่วยให้การหายใจของผู้ป่วยดีขึ้น และ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้
  • เครื่องวัดความดันโลหิต (Blood Pressure Monitor) สำหรับการติดตามระดับของ ความดันโลหิต
  • เครื่องควบคุมปริมาตรน้ำเกลือ หรือ ยา (Infusion Pump) สำหรับควบคุมปริมาตรของ น้ำเกลือ หรือ ยา ที่ให้กับผู้ป่วยได้รับถูกต้อง ตรงตามแผนการรักษา
  • เครื่องดูดเสมหะ (Suction)
  • กระเป๋าพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต / ยาที่จำเป็น

 

     "ศูนย์บอลลูนหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม นอกจากจะมีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัย และ รักษา ผู้ป่วยโรคหัวใจ ทุกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังพร้อมให้การดูแล ฟื้นฟูสมรรถภาพ หัวใจ ภายใต้คำแนะนำ และ ควบคุม ดูแล โดยผู้เชี่ยวชาญ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ และ ปอด พร้อมทั้งทีมงานที่เชี่ยวชาญ และ อุปกรณ์ ในการออกกำลังกายที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทั้งโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือ โรคปอด ได้ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง ปลอดภัย เหมาะสมกับ สภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และ ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติอีกด้วย"

  • หลอดเลือดชีวิตหลอดเลือดหัวใจ

  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย