การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง ให้กลับมาดีขึ้น
May 06 / 2025

ผู้ป่วยติดเตียง

 

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์คนใกล้ชิดที่เคยล้มลงกระทันหัน พูดไม่ชัด ซีกหนึ่งของร่างกายอ่อนแรง หรือแม้กระทั่งหมดสติ นั่นคือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ควรมองข้าม

 

สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษา คือ “การดูแลหลังจากนั้น” เพราะแม้ร่างกายจะผ่านพ้นวิกฤตมาได้แล้ว แต่การฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับเดิมที่สุด ต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากแพทย์ นักกายภาพ ครอบครัว และตัวผู้ป่วยเอง

การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 

การทำฟื้นฟูสมรรถภาพ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ลุก เดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง โดยการฟื้นฟูสมรรถภาพนี้จะเริ่มต้นเร็วที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายผู้ป่วยจะเอื้ออำนวยหรือพอขยับได้

1. กายภาพบำบัด

จุดประสงค์หลักของกายภาพบำบัด คือ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เดินได้ นั่ง ลุก และทรงตัวได้อย่างปลอดภัยด้วยตัวเอง

การทำกายภาพบำบัดอาจเริ่มจากการฝึกขั้นพื้นฐาน เช่น

  • ฝึกขยับแขน-ขา

  • ฝึกนั่งหลังตรง

  • ฝึกยืน-เดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน

  • ฝึกทรงตัว

นอกจากการทำกายภาพบำบัดแล้วยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยช่วยส่งเสริมการฝึกให้ผู้ป่วยฟื้นฟูได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น 

  • หุ่นยนต์ฝึกเดิน : Free walk Robot

  • หุ่นยนต์ฝึกใช้กล้ามเนื้อมือ : Mirror hand Robot

  • ธาราบำบัด ( Hydrotherapy)

2. กิจกรรมบำบัด

นอกจากการฝึกกายภาพบำบัดแล้ว การฝึกกิจกรรมบำบัดเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงแบบปกติก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งการฝึกกิจกรรมบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวเองไม่เป็นภาระของผู้ดูแล การฝึกกิจกรรมบำบัดเช่น

  • การจับช้อนส้อมกินข้าว

  • การอาบน้ำ แต่งตัว

  • การฝึกหยิบของใช้ต่าง ๆ

การฝึกกิจกรรมบำบัดบางอย่างอาจจะจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมเช่น การใช้เก้าอี้ในการอาบน้ำ หรือใช้ราวจับในห้องน้ำ

3. ฝึกพูดและการกลืน

ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อาจมีอาการพูดไม่ชัด พูดไม่ออก หรือกลืนลำบาก การฝึกพูดจะช่วยให้ผู้ป่วยสื่อสารได้ดีขึ้น ส่วนการฝึกกลืนจะช่วยป้องกันการสำลักอาหารตอนทานข้าว

 

ทั้งนี้การฝึกพูดจะต้องเริ่มจากฝึกคำง่าย ๆ ให้พูดช่วยฝึกพูดแบบช้า ๆ ชัด ๆ ตัวอย่างเช่นคำว่า “ใช่” , “ไม่ใช่” , “เอา” , “ไม่เอา” และควรที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพูดได้เยอะขึ้น 

 

4. การดูแลด้านจิตใจ

 

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือรู้สึกหมดหวังหลังป่วย ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวอย่างมาก ครอบครัวควรเข้าใจ ให้กำลังใจ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา

 

สิ่งที่ครอบครัวและคนใกล้ชิดควรทำคือ

 

  • ให้กำลังใจ พูดจาให้ความหวัง อย่าตำหนิ

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่า

  • ชวนพูดคุย หรือหากิจกรรมเล็ก ๆ ทำร่วมกัน


 

หากคนใกล้ชิดของท่านเริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง สายตาพร่าเบลอ พูดไม่ชัด เวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ให้รีบส่งตัวไปโรงพยาบาลใกล้เคียงที่สุด

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองสามารถปรึกษาได้ที่ ศูนย์รักษาอัมพาต โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม โทร 052-004699 เวลา 08.00 - 16.00 น.

 

บทความเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมอง 

 

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง แบบไม่ต้องผ่าตัด

 

สัญญาณเตือนของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง BEFAST