ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หากเกิดอาการผิดปกติในร่างกาย
January 14 / 2025

ในชีวิตประจำวัน เรามักเผชิญกับกิจกรรมมากมาย บางครั้งเราอาจมองข้ามสัญญาณเล็ก ๆ ที่ร่างกายกำลังบอกอะไรบางอย่างกับตัวเรา ความผิดปกติเล็กน้อยที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่เพียงเรื่องธรรมดาอย่างที่เราคิด แต่กลับเป็นตัวบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่กำลังจะเป็นภัยร้ายในอนาคตโดยเฉพาะ "โรคหัวใจ" ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่อันตรายถึงชีวิต หลายคนอาจละเลยถึงอาการบางอย่าง เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก เมื่อหายดีแล้วก็ปล่อยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นซึ่งอาการเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการ บอกว่าคุณกำลังประสบปัญหากับโรคหัวใจ

บทความนี้จะพาคุณสำรวจถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับความผิดปกติในร่างกาย แนวทางการดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณสามารถรักษาสุขภาพที่ดีได้ในระยะยาว

อาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจ

เจ็บหน้าอก

1. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก

ความรู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอกมักเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โดยเฉพาะเมื่ออาการเจ็บเรื้อรังแผ่กระจายไปยังไหล่ แขน หรือทรวงอก หากเกิดอาการเหล่านี้ให้สังเกตตัวเองหรือหากมีความรู้สึกเจ็บมากให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

2. หายใจลำบากหรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ

จะรู้สึกเหนื่อยง่ายแม้ในกิจกรรมเบา ๆ หรือมีปัญหาในการหายใจ รู้สึกหายใจไม่เต็มอิ่ม

3. ใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ความรู้สึกใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติอาจเป็นอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจได้

4. อ่อนเพลีย

หากรู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อาจเป็นอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจหากพบว่าตัวเองมีอาการควรรีบพบแพทย์โดนทันที

5. เหงื่อออกมากผิดปกติ

เหงื่อออกเยอะโดยไม่มีสาเหตุ เช่น ระหว่างพักผ่อน อาจบ่งบอกถึงปัญหาในการทำงานของหัวใจ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจ

1. โรคความดันโลหิตสูง


หากความดันโลหิตสูงต่อเนื่องและไม่ได้รับการควบคุม หัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น หัวใจโตขึ้น และหลอดเลือดมีโอกาสตีบหรือแข็งตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือด หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย และในที่สุดอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

2. การสูบบุหรี่


ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 2-4 เท่า สารพิษในบุหรี่จะทำลายเซลล์ที่เยื่อบุผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมลงและเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ แม้แต่การสัมผัสควันบุหรี่ก็ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ดีที่สุด

3. ระดับไขมันในเลือดสูง


การมีไขมันชนิดแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol) สูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ไขมันเหล่านี้ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น หลอดเลือดตีบแคบ เลือดไหลเวียนได้น้อยลง อาจนำไปสู่หลอดเลือดหัวใจอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจตาย

4. โรคเบาหวาน


ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ เนื่องจากเบาหวานส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพและมีประสิทธิภาพลดลง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดและความดันโลหิต จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

5. การขาดการออกกำลังกาย


การไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิต ระดับไขมัน น้ำหนักตัว และเบาหวาน

แนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

1. ควบคุมอาหารรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารที่มีประโยชน์

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน เช่น ของหวาน ของมัน ของทอด พร้อมทั้งลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

 

อ่านเพิ่มเติม แนวทางการรับประทานอาหารที่ช่วยควบคุมโรคความดันโลหิตสูง

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด  เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ 

3. งดสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ สารพิษในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพและเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดตีบ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ดี

4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปสามารถเพิ่มความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้น

5. จัดการความเครียด

ความเครียดเป็นตัวกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูง การผ่อนคลายด้วยการทำงานอดิเรกเช่น ฟังเพลง ดูหนัง ไปเที่ยว จะช่วยลดภาวะความเครียดได้เป็นอย่างดี

6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

การตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยให้คุณทราบถึงความเสี่ยงและปัญหาสุขภาพก่อนที่จะลุกลาม ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง

7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับอย่างเพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อคืน ช่วยให้ร่างกายและหัวใจได้พักผ่อน และฟื้นฟูตัวเอง การพักผ่อนที่เพียงพอยังช่วยลดความดันโลหิตและป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หากท่านคิดว่ามีอาการผิดปกติบริเวณหน้าอกหรืออาการโรคหัวใจกำเริมให้รีบไปหาหมอโดยเร็วที่สุด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บอลลูนหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายท่านที่คอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด