ผ่าตัดกระเพาะอีกทางของการลดความอ้วน
May 29 / 2023

 

‘โรคอ้วน’ คำนี้คงบาดใจใครหลายๆคน ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง และยังถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่สูงมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาวะที่มีไขมันในร่างกายมากเกินไป มักเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตรวมกัน โรคอ้วนสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (โรคเบาหวานที่เกิดจากมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็งบางชนิด) นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ความมั่นใจตัวเอง และคุณภาพชีวิตในภาพรวมได้  โดยการรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่

  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต : เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหารและการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมการลดน้ำหนัก
  • การใช้ยา : มียาหลายชนิดที่สามารถช่วยลดความอยากอาหาร ลดการดูดซึมไขมัน หรือเพิ่มการเผาผลาญ ยาเหล่านี้มักจะสั่งจ่ายให้กับผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป หรือสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับน้ำหนักที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 27 ขึ้นไป
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหาร : หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดลดน้ำหนัก เป็นการผ่าตัดที่ลดขนาดของกระเพาะอาหารเพื่อจำกัดการรับประทานอาหาร
  • การบำบัดพฤติกรรม : เป็นวิธีการให้คำปรึกษาและกลุ่มสนับสนุนที่ช่วยให้บุคคลมีนิสัยที่ดีต่อสุขภาพและจัดการกับความเครียดและการรับประทานอาหาร
  • การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ : มีอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดที่ใช้รักษาโรคอ้วนได้ เช่น ลูกโป่งใส่กระเพาะเพื่อให้อิ่ม หรือ การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัลป์ที่ช่วยควบคุมความอยากอาหาร เป็นต้น

‘การผ่าตัดกระเพาะ’ หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดลดความอ้วน เป็นหนึ่งในวิธีการลดน้ำหนักยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต่อสู้กับโรคอ้วน เนื่องจากสามารถช่วยให้ลดความอ้วนได้สำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ  โดยมีรายละเอียดต่างๆดังนี้

 

เกณฑ์ของผู้เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

          ผู้ที่สามารถเข้ารับการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ ซึ่งจะใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยควรจะเป็นผู้มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 35 กก./ตร.ม.ขึ้นไป  เนื่องจากถือว่าเป็นคนอ้วนขั้นรุนแรง มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีอื่นในการลดความอ้วนแล้วไม่ได้ผลในระยะยาว (ในคนปกติค่าBMIจะอยู่ที่ 18.5-24.9 กก./ตร.ม. และ ผู้ที่ถือว่าเป็นโรคอ้วนจะมีค่า BMI มากกว่า 40 กก./ตร.ม.ขึ้นไป)

 

 

วิธีการรักษาโดยใช้วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

          การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นวิธีการลดความอ้วนโดยการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของกระเพาะอาหารลง โดยสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy) , การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass) และ การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (Endoscopic Sleeve Gastroplasty) ซึ่งจะทำให้ร่างกายลดการทานอาหารลง อิ่มเร็วขึ้น รวมไปถึงสามารถปรับระดับฮอร์โมนที่ควบคุมในเรื่องความหิวและความอิ่ม โดยการผ่าตัดกระเพาะอาหารในปัจจุบัน ถือได้ว่ามีความปลอดภัยสูง ช่วยให้ลดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน ส่งผลให้สามารถลดความอ้วนได้ในระยะยาว

 

ภาวะและการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

          หลังการผ่าตัดกระเพาะแล้ว จะพบว่าน้ำหนักจะลดลงตั้งแต่ช่วงแรกหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรกน้ำหนักจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากนั้นน้ำหนักก็อาจจะขึ้นมาได้บ้างขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและปัจจัยในช่วงเวลานั้นๆ ทั้งด้านอายุ การออกกำลังกาย และ การควบคุมอาหาร

          ซึ่งตามคำแนะนำของแพทย์ ในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด จะรับประทานได้เพียงของเหลว หรือ อาหารอ่อนที่ง่ายต่อกระบวนการย่อยและการปรับสภาพของกระเพาะอาหาร หลังจาก 4 สัปดาห์ไปแล้ว จึงสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ตามความเหมาะสม โดยควรควบคุมอาหารตามคำแนะนำและแผนของแพทย์ นักโภชนาการ และ นักกำหนดอาหาร

 

          จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ถือว่าเป็นทางเลือกในการลดความอ้วนที่มีความปลอดภัยหากได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์ และยังเป็นวิธีการที่ได้ผลได้ระยะยาว ซึ่งหากท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองภาวะน้ำหนักเกินจากโรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม จากแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง หรือติดต่อสอบถามได้ที่แผนกโรคเฉพาะทาง โทร.053-920300 ต่อ 4000