เค็มไป ไตพัง
May 29 / 2023

 

 

          การบริโภคเค็มมากเกินไปเป็นนิสัยการบริโภคอาหารทั่วไปที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของบุคคล การบริโภคเกลือในปริมาณสูงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพต่างๆ รวมถึงอาการไตวายได้  จากข้อมูลของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังถึง 11.6 ล้านคน  และมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องมีการฟอกไต  อีกทั้งจากรายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด ซึ่งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย  ซี่งสาเหตุหนี่งก็คือการบริโภคอาหารรสเค็มมากเกินไป หรือการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมมากกว่าที่กำหนด

            โดยปกติโซเดียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการเพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง แต่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และไตวาย จากการศึกษาร่างกายของคนเราไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา (ประมาณ 5 กรัม)  ซึ่งเมื่อเฉลี่ยต่อมื้ออาหารแล้วร่างกายไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมนั่นเอง

 

 

            โดยทั่วไปแล้วไตจะมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมสมดุลของเกลือในร่างกาย เมื่อได้รับเกลือในปริมาณมาก ไตจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขับเกลือส่วนเกินออก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตเสียหายได้เมื่อเวลาผ่านไป โดยมีการศึกษาอ้างอิงที่จัดทำโดย American Society of Nephrology พบว่าอาหารที่มีเกลือสูงสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคไตได้ถึง 20% เลยทีเดียว

            โรคไตเกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถกรองของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากเลือดได้ โรคไตมีสองประเภท ได้แก่ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยโรคไตเฉียบพลันเกิดขึ้นกะทันหันเนื่องจากการบาดเจ็บหรือความเสียหายต่อไต ในขณะที่โรคไตเรื้อรังจะค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากสภาวะแวดล้อม เช่น การบริโภคเกลือในปริมาณสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้การบริโภคเกลือมากเกินไปยังอาจนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อภาวะไตวาย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานและโรคอ้วน จากข้อมูลของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ผู้ที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไต และการบริโภคเกลือในปริมาณสูงอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ในทำนองเดียวกัน โรคอ้วนสามารถนำไปสู่ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ไตวายได้

 

                การสังเกตอาหารที่เราบริโภคเป็นประจำถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการรักษาสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยการสังเกตุปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการอ่านฉลากกำกับส่วนประกอบข้างกล่อง หรือประเภทของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  รวมถึงการหลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารที่มีปริมาณโซเดียมจำนวนมาก  ได้แก่

1) อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ผงฟู เป็นต้น

2) เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น แฮม กุนเชียง ไส้กรอก เป็นต้น

3) อาหารที่มีส่วนผสมของเนยหรือครีม เช่น เค้ก พิซซ่า เป็นต้น

4) อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น กุ้งแห้ง เมล็ดถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

5) อาหารหมักดอง เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง เป็นต้น

6) อาหารเติมเกลือ หรือ อาหารซอง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง เป็นต้น

7) เนื้อสัตว์ติดมัน เช่น คอหมูย่าง เอ็นหมู เอ็นวัว ข้อไก่ เป็นต้น

8) อาหารที่มีคอเรสเตอรอล หรือ ไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่แดง ปลาหมึก หอยนางรม ขาหมู เป็นต้น

 

          หากเราไม่ดูแลด้านการโภชนาการให้ดี มีการกินเค็มมากเกินไปจนอาจทำให้ป่วยเป็นโรคไตได้ และอาจส่งผลต่อสุขภาพหนักขึ้นจนต้องมีการรักษาโดยใช้วิธีการฟอกไต ซึ่งการฟอกไต หรือ ล้างไต เป็นการรักษาทางการแพทย์ที่ใช้ในการกำจัดของเสียและของเหลวส่วนเกินออกจากเลือด  ในกรณีที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การฟอกไตมีสองประเภทได้แก่  การฟอกเลือดด้วยเครื่องกรองเลือด  และการล้างไตทางช่องท้องโดยการใช้น้ำยาทำความสะอาดเข้าไปในช่องท้องเพื่อกำจัดของเสีย ซึ่งการล้างไตเป็นการรักษาที่ช่วยชีวิตผู้ที่เป็นโรคไตวายได้ แต่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่สำคัญ เช่น การปฏิบัติตามข้อจำกัดด้านอาหารและของเหลวที่เข้มงวด และมักต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงในศูนย์ล้างไต อีกวิธีหนึ่งในการรักษาโรคไตคือ การปลูกถ่ายไต ซี่งถือเป็นทางเลือกระยะยาวที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากที่มีภาวะไตวาย แต่อาจจำเป็นต้องฟอกไตในขณะที่รอผู้บริจาคที่เหมาะสมด้วยอีกเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว โรคไตเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องระวังและถือเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขของประเทศ การบริโภคเกลือในปริมาณสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ สิ่งสำคัญคือต้องตรวจสอบการบริโภคเกลือของคุณอย่างระมัดระวัง อ่านฉลากอาหาร และเลือกวัตถุดิบสดใหม่เมื่อปรุงอาหารที่บ้าน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการตรวจสุขภาพกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพเป็นประจำ คุณเองสามารถป้องกันและจัดการกับโรคไตและลดความเสี่ยงของไตวายได้

 


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ

โทร. 053-920300 ต่อ 1200