รู้จักโรคพาร์กินสัน
March 01 / 2023

 

 

“โรคพาร์กินสัน” (Parkinson’s Disease) เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และ มักจะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 เท่า  เกิดจากความเสื่อมของบริเวณสมองส่วนกลางและระบบประสาทบริเวณก้านสมอง  ทำให้การผลิตสารที่มีชื่อว่า “โดพามีน” ลดลง  ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหว  ไม่ว่าจะเป็นอาการมือสั่น เคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีผลต่อความยากลำบากในการดำรงชีวิตได้

                สาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกติในการผลิตสารโดพามีนของร่างกายนั้นยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด  แต่มักจะพบบ่อยในผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้วิงเวียน แก้มึนงง แก้อาเจียน ยารักษาอาการผิดปกติทางจิตบางชนิด ยากล่อมประสาท เป็นต้น  นอกจากนี้แล้วอาการของโรคพาร์กินสันอาจเกิดจากความผิดปกติของสมองได้ เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก เนื้องอกในสมอง สมองอักเสบ โพรงน้ำในสมองขยายตัว หรือ การเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสมอง เป็นต้น  รวมไปถึงอาจเป็นไปได้ที่เกิดจากพันธุกรรมอีกด้วย

                อาการของโรคพาร์กินสันอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ  ดังนี้

                1.  อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว  ซี่งจะมีอาการหลักๆ ดังต่อไปนี้

                                -  มือสั่น  เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้เวลาอยู่นิ่งจะทำให้มือสั่น ใช้มือไม่สะดวก แต่เวลาเคลื่อนไหว มืออาจกลับไปนิ่งเหมือนเดิมได้

                                -  กล้ามเนื้อเกร็ง  จนอาจเป็นตะคริวได้บ่อย  ใบหน้าสามารถแสดงออกได้น้อย  ยิ้มได้น้อย  ไม่ค่อยกระพริบตา  กลืนไม่ค่อยคล่องเหมือนเดิม  อาจมีน้ำลายมากและสำลักได้ง่ายขึ้น  เสียงเบาลง

                                -  เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง

                                -  การทรงตัว และ การเดินผิดปกติ  ก้าวเท้าได้เพียงสั้นๆ  หมุนกลับตัวได้ลำบาก

                2.  อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว  อาจมีอาการที่เกิดขึ้นได้หลากหลาย เช่น คิดช้าลง  ความจำไม่ค่อยดี  ซึมเศร้า  หลับไม่สนิท  การได้กลิ่นต่างๆลดลง

                โรคพาร์กินสันจะมีอาการแบ่งออกเป็น 5 ระยะ  ได้แก่

                ระยะที่ 1 :  อาการเริ่มต้น  โดยจะมีอาการสั่นของร่างกาย เช่น มือ และ แขน  โดยเฉพาะเวลาที่อยู่นิ่ง และ อาจหายในเวลาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย

                ระยะที่ 2 :  อาการเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ  เริ่มหลังงอ  ตัวโก่ง  เคลื่อนไหวได้ช้าลง

                ระยะที่ 3 :  เริ่มทรงตัวได้ยาก  หกล้มง่าย  ลุกยืนได้ลำบาก

                ระยะที่ 4 :  สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ลดลง  มีอาการเกร็งเพิ่มขึ้น  เคลื่อนไหวได้ช้าลงกว่าเดิม  ในระยะนี้จำเป็นต้องมีคนช่วยดูแล  เนื่องจากอาจหกล้มได้ง่ายขึ้น

                ระยะที่ 5 :  กล้ามเนื้อมีอาการแข็งเกร็งจนขยับไม่ได้  เป็นผู้ป่วยติดเตียง  มือเท้าหงิกงอ  ไม่สามารถแสดงความรู้สึกทางใบหน้าได้  รับประทานอาหารได้น้อยลง  เสียงเบาลง  การเคลื่อนไหวของทรวงอกทำได้น้อย  เสี่ยงต่ออาการติดเชื้อทางเดินหายใจ

                ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  แต่สามารถทำการรักษาเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น  โดยในเบื้องต้นสามารถใช้ยาในการรักษาเริ่มต้น  โดยยาที่มีการออกฤทธิ์ให้สมองผลิตสารโดพามีนได้มากขึ้น  ซึ่งทำได้ทั้งการรับประทานยา หรือ อาจใช้แผ่นแปะ  นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถทำกายภาพบำบัด  เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น  และสำหรับผู้ป่วยที่อาจมีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา  แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัด  โดยจะใช้การฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation)


                หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน  ทางโรงพยาบาลเชียงใหม่รามสามารถให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง  โดยสามารถติดต่อได้ที่แผนกโรคเฉพาะทาง โทร.053-920300 ต่อ 4000