ใจสั่น...อันตรายกว่าที่คิด
December 30 / 2022

 

อาการใจสั่น ใจหวิว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน  โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเครียด  ตื่นเต้น  กังวล  หรือการดื่มเครื่องดื่มบางชนิด รวมไปถึงยาบางอย่าง  ก็อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นขึ้นได้  แต่ก็ไม่ควรไว้วางใจ  เพราะอาการใจสั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายมากกว่าที่คิดก็ได้  ดังนั้นหากมีอาการใจสั่นเกิดขึ้นควรทำความเข้าใจและหมั่นสังเกต ดังนี้

สาเหตุของอาการใจสั่น

                อาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ  โดยอาจเกิดจากโครงสร้างหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หรือ พันธุกรรมหรืออาการผิดปกติจากหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด , ห้องหัวใจโต , โรคลิ้นหัวใจ , โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย , เป็นต้น  นอกจากนี้อาการใจสั่นอาจเกิดจากสาเหตุของความผิดปกติของระบบอื่นๆได้ด้วย เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ , ความผิดปกติของเกลือแร่ , ความเครียด , หรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น

อาการใจสั่นที่เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

                สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท  ได้แก่

                1.  หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน  พบมากในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น

                2.  หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง  เกิดจากความผิดปกติในการเต้นของหัวใจห้องล่าง  ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น  และไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสังเกตอาการใจสั่นที่อาจเป็นอันตราย

  • อาการใจสั่นที่เกิดขึ้นทันทีทันใด  โดยไม่มีตัวกระตุ้น
  • ตอนที่มีอาการใจสั่น  มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก เป็นลม หน้ามืด
  • อาการเกิดขึ้นบ่อยหรือไม่
  • เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว  ตอนหายเป็นปกติ  ค่อยๆดีขึ้นหรือไม่ และหายเนื่องจากอะไร

การตรวจวินิจฉัยอาการใจสั่น

  • การทำอัลตร้าซาวน์หัวใจ (Echocardiogram)
  • การติดเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring)
  • การวิ่งสายพาน (Exercise stress test)
  • การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram)

การรักษาอาการใจสั่น

                โดยทั่วไปแล้วอาการใจสั่นจะหายได้เองหากเป็นไม่มาก  โดยไม่ต้องทำการรักษา  แต่แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การทานอาหาร , การดื่มแอลกอฮอล์ , การพักผ่อน , เป็นต้น  แต่หากเป็นอาการใจสั่นที่เกิดจากโรคประจำตัวแล้ว  แพทย์ก็อาจทำการรักษาด้วยวิธีการต่างๆที่เหมาะสม ได้แก่

  • การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ
  • การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง
  • การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ

หากพบว่ามีอาการใจสั่นเกิดขึ้นบ่อย ควรมีการปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการวินิจฉัย โดยสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม แผนกโรคเฉพาะทาง โทร.053-920300 ต่อ 4000