วิธีตรวจสุขภาพหัวใจมีแบบไหนบ้าง ประโยชน์ของการตรวจแบบต่าง ๆ
December 13 / 2022

 

ตรวจสุขภาพหัวใจ

วิธีตรวจสุขภาพหัวใจมีแบบไหนบ้าง ประโยชน์ของการตรวจแบบต่าง ๆ

โรคหัวใจเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมากในอันดับต้นๆ  หลายรายมีอาการบอกเหตุล่วงหน้า  ทำให้รู้ตัวและหากวิธีป้องกันได้ก่อน  แต่มีไม่น้อยที่ไม่เคยมีอาการใดๆมาก่อนเลย  พอรู้ตัวอีกทีก็ป่วยหนักรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตแล้ว  ดังนั้นเราจึงควรหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ  โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปี  ควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี  ซึ่งการตรวจสุขภาพหัวใจนั้นมีอยู่หลายวิธี  ขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์  โดยมีวิธีที่ใช้บ่อยดังต่อไปนี้

1.  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  (Electrocardiography : EKG)

                เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  ตรวจเช็คกระแสไฟฟ้าที่หัวใจผลิตออกมาขณะหดตัวหรือคลายตัว  ซึ่งจะแสดงผลออกมาเป็นกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  หากมีคลื่นไฟฟ้าสม่ำเสมอก็แสดงถึงหัวใจที่ทำงานปกติ  แต่หากกราฟแสดงผลออกมาผิดปกติก็อาจแสดงถึงการทำงานของพยาธิหัวใจที่ผิดปกติ  วิธีนี้สามารถทำได้ง่าย  สะดวก  ไม่เจ็บ  และให้ผลได้เร็ว  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจใช้สำหรับ  การตรวจเพื่อค้นหาภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือด , ตรวจเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติของหัวใจ , ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่อาจเกิดจากความผิดปกติของระดับเกลือแร่ของร่างกาย

2.  การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง  (CT 128 Slices)

                เป็นการตรวจหัวใจและเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง  ที่ให้ความละเอียดของภาพสูง  แม่นยำ  ใกล้เคียงกับการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ  นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพในขณะหัวใจเต้น และ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งปริมาณแคลเซียม หินปูนที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดหัวใจ  โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล  โดยเฉพาะการตรวจแบบ CT 128 Slices ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในส่วนอื่นๆได้อีกด้วย  ไม่ว่าจะเป็น  การตรวจหาเนื้องอกระยะเริ่มต้นในลำไส้ใหญ่ , ตรวจหาเนื้องอกระยะเริ่มต้นในเนื้อเยื่อปอด , ตรวจหาความผิดปกติของกระดูกส่วนต่างๆของร่างกาย , ตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง และหลอดเลือดสมอง , ตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อในช่องท้อง

3.  เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชนิดติดตามตัว  (Holter Monitor)

                ในกรณีที่ตรวจหัวใจด้วยวิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วไม่พบความผิดปกติ  แต่พบว่ายังมีอาการของโรคที่น่าสงสัยว่าหัวใจอาจมีความผิดปกติ  อาจใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตามตัวตลอด 24 ชั่วโมง  เพื่อให้ตรวจเช็คว่ากิจกรรมต่างๆในชีวิตมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่

4.  เครื่องตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง  (Echocardiography)

                การตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง  หรือ  เรียกสั้นๆว่า “เอคโค่” เป็นการทำอัลตร้าซาวด์หัวใจ  โดยใช้หลักการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปที่หัวใต  แล้วส่งสัญญาณกลับเพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจจากการแสดงภาพเงาตามความหนาบางของเนื้อเยื่อหัวใจที่ตกกระทบ  โดยการทำเอคโค่สามารถตรวจดูความเคลื่อนไหวของหัวใจ  การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ  รูปร่างของหัวใจ  ความหนาของผนังกล้ามเนื้อหัวใจ  การทำงานของลิ้นหัวใจ  ความพิการและความผิดปกติของหัวใจ  เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่มีอันตรายและความเจ็บปวดใดๆ  โดยใช้เวลาในการตรวจเพียง 20-30 นาที

5.  เครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย  (Exercise Stress Test)

                วิธีนี้เรียกง่ายๆได้ว่า “วิ่งสายพาน”  เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการวิ่งสายพาน  เพื่อให้หัวใจทำงานอย่างเต็มที่  เพื่อตรวจสอบว่าในขณะที่หัวใจกำลังทำงานอย่างหนักอยู่นั้น  หัวใจมีภาวะขาดเลือดหรือไม่  โดยสังเกตุจากการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ  รวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจ  และอาการอื่นๆ เช่น การแน่นหน้าอก  หายใจลำบาก  เป็นต้น  การตรวจด้วยวิธีนี้จะสามารถตรวจเช็คโรคหัวใจขาดเลือด , โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในเบื้องต้น  เพื่อให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยต่อไปได้

                การดูแลสุขภาพของหัวใจถือเป็นสิ่งสำคัญ  ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย  การทานอาหารที่มีประโยชน์  การพักผ่อน  และที่สำคัญควรตรวจสุขภาพของหัวใจอย่างเป็นประจำจากโรงพยาบาลเชียงใหม่ รามที่มีศูนย์บริการเฉพาะทางโรคหัวใจ  โดยหากท่านมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม แผนกโรคเฉพาะทาง  โทร.052-004699 ต่อ 4000