เฮอร์แปงไจน่า โรคระบาดในเด็กที่ต้องรู้จัก
December 13 / 2022

 

 

“โรคเฮอร์แปงไจน่า” (Herpangina) ฟังชื่อแล้วอาจไม่คุ้นหูสำหรับคุณพ่อคุณแม่  แต่โรคนี้เป็นโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก  ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus)  และจะพบมากในเด็กที่มีอายุไม่เกิน 10 ขวบเช่นเดียวกัน  แต่มีความแตกต่างกันคือโรคนี้จะเกิดแผลที่บริเวณปากเท่านั้น  โดยจะมีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง  นอกจากนี้เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส  และอาจมีอาการไอ จามได้อีกด้วย

          โรคเฮอร์แปงไจน่าสามารถติดต่อกันได้ทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ  รวมไปถึงการแพร่เชื้อที่อาจมาจากการสัมผัสวัสดุต่างๆร่วมกัน หรือ ปนเปื้อนมากับ น้ำ อาหาร ผ่านเข้าทางปากสู่ระบบทางเดินอาหาร  ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการก่อโรค  การได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้  ดังนั้นจึงเป็นโรคระบาดสำหรับเด็กที่ไม่ควรมองข้าม

          แม้ว่าโรคนี้จะมีอาการไม่รุนแรง  และอาจหายได้เองในประมาณ 7 วัน  แต่ก็ทำให้เด็กที่ติดเชื้อมีอาการไข้สูง  ปวดศรีษะ  ปวดเมื่อยตามตัว  อาเจียน  ทำให้อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น การอักเสบของก้านสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มีการพบเจออาการแทรกซ้อนเหล่านี้ได้น้อย  โรคเฮอร์แปงไจน่าจะมีลักษณะเด่นคือ  จะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน  ต่อมาจะมีจุดสีแดงบริเวณช่องปาก ลิ้นไก่ ลำคอ หรือทอนซิล อาจเป็นแผลเล็กๆขึ้นเป็นตุ่มน้ำ หรือมีการอักเสบรอบแผลประมาณ 5-10 ตุ่ม  หลังจากนั้นไข้จะลดลงภายใน 2-4 วัน ก่อนที่ตุ่มจะหายไปใน 1 สัปดาห์

          ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจน่าโดยตรง  ดังนั้นจึงควรป้องกันด้วยวิธีการล้างมือให้สะอาด ระมัดระวังการสัมผัสสิ่งของต่างๆร่วมกับคนอื่น  โดยเฉพาะเด็กๆที่ใช้ของเล่นร่วมกันในโรงเรียน  ถ้าพบอาการดังกล่าวควรให้เด็กหยุดเรียนเพื่อระงับการแพร่ระบาด  หากติดเชื้อสามารถรักษาได้ตามอาการ  โดยการเช็ดตัวเพื่อลดไข้  หรือให้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้  ควรดื่มน้ำให้มากๆ  รับประทานอาหารอ่อน  หากไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย ควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน

          แม้ว่าโรคเฮอร์แปงไจน่าจะสามารถหายได้เอง  แต่หากพบว่ามีอาการดังกล่าว  ควรรีบพาน้องๆมาพบแพทย์  เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย  ซึ่งที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม มีแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมให้การรักษา 

สามารถสอบถามได้ที่ แผนกผู้ป่วยนอกเด็ก โทร. 052-004699 ต่อ 5148 และ 5149