โรคซึมเศร้า คืออะไร?
โรคซึมเศร้า เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ มีอาการหลักคือ คือ
1) อารมณ์เศร้า ท้อแท้ ซึม หงอยทั้งที่ตัวเองรู้สึกหรือคนอื่นก็สังเกตเห็น
2) เบื่อ ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม
และมีอาการเหล่านี้รวมกันอย่างน้อย 5 อาการ ได้แก่
1) เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
2) หลับยาก หลับๆตื่นๆ หรือหลับมากไป
3) คิดช้าพูดช้า ทำอะไรช้าลง หรือหงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้
4) รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยใจ ไม่มีแรง
5) รู้สึกตนเองไร้ค่า
6) สมาธิ ความคิดอ่านช้าลง
7) คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อาการเหล่านี้เป็นอยู่เกือบทั้งวัน เป็นติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ และทำกิจวัตรประจำวัน เข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคม ทำหน้าที่การงานไม่ได้เหมือนเดิม หรือมีความทุกข์ทรมานใจอย่างเห็นได้ชัด
โรคซึมเศร้า..มีสาเหตุเกิดจากอะไร? สาเหตุของโรคเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1.ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรม หรือโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ สารเสพติดต่างๆ
2.ปัจจัยด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนเครียดสูง มองตนเองในแง่ลบ หรือมองโลกในแง่ร้าย รวมทั้งความเครียดที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียดในครอบครัว การเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ความผิดหวัง ชีวิตโดดเดี่ยว สูญเสียคนที่รัก ตกงาน หย่าร้าง เป็นต้น
หากท่านมีภาวะซึมเศร้า... สามารถป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดย...
- คุยกับคนที่ไว้ใจ เกี่ยวกับอารมณ์เศร้า และเรื่องที่ทำให้เศร้า หลายคนรู้สึกดีขึ้นหลังจากการพูดคุย
- หากิจกรรมที่เคยทำแล้วมีความสุข
- ไปมาหาสู่พบปะพูดคุยกับเพื่อน และครอบครัวบ่อยๆ และสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้เป็นการเดินระยะสั้นก็ได้ จนเหงื่อซึมไหล นาน 30 นาที
- รับประทานอาหาร และนอนให้เป็นเวลาทุกๆวัน
- ทำใจกับอาการซึมเศร้าว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นได้ ความคาดหวังในสิ่งต่างๆ อาจจะไม่เป็นไปตามที่เคยเป็น
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามใช้ยาเสพติด เพราะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น
- ไปพบแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรือบุคลากรสาธารณสุข ท่านจะได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ทันท่วงที และเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการรักษา
- หากท่านคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง ให้รีบขอความช่วยเหลือจากบุคลากรสาธารณสุขโดยด่วน
- ให้ระลึกอยู่เสมอว่า การได้รับดูแลรักษาที่ถูกวิธี จะทำให้ท่านอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายขาด
ทำอย่างไรเมื่อเป็นซึมเศร้า...รักษาได้หรือไม่?
หากตรวจสอบตัวเองและคนใกล้ชิดแล้ว พบว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอาการดังกล่าว หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังรุนแรง ให้หาทางระบายความคิดและความรู้สึกของตัวเองออกมากับคนใกล้ชิดที่ไว้ใจและมั่นใจว่าจะช่วยเหลือได้ หรือพบจิตแพทย์
โปรดระลึกไว้เสมอว่า “โรคซึมเศร้า..รักษาได้” แต่ถ้าเป็นมากๆ แล้วไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ต่อเนื่องจะมีแนวโน้มสู่การฆ่าตัวตายได้สูง ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 60 วิธีรักษาคือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในรายที่มีอาการมาก เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือรักษาโดยการใช้ยา รวมถึงการรักษาด้วยจิตบำบัด ซึ่งจะเป็นการปรับทัศนคติ ปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิต และเมื่อเข้ารับการรักษาแล้วควรเข้าสู่กระบวนการที่รักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับใช้ชีวิตดังเดิมได้ เข้าใจโลกของผู้ป่วยซึมเศร้า
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยอย่ามองว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกมาเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยคิดหรือสร้างขึ้นมาเอง หรือคิดมองโลกในแง่ร้ายเอง หรือใช้คำพูดเช่น “ไม่สู้เอง” “ทำไมไม่ดูแลตนเอง” “ไม่เห็นมีอะไรเลยทำไมถึงเศร้า” “เรื่องแค่นี้เองทำไมถึงอ่อนแอจัง” เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เพราะกลัวถูกมองว่าตนเองล้มเหลว หรืออ่อนแอ หรือเป็นความผิดของตนเองจึงไม่ยอมเข้ารักษากับจิตแพทย์ แต่ควรเปิดใจรับฟังและพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ การรับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความเข้าใจ อดทน และห่วงใย ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริง ตลอดจนความหวัง ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรืองานอดิเรกที่เคยให้ความสนใจ จะช่วยเป็นกำลังใจที่มีค่าต่อผู้ป่วย โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี 24 ชั่วโมง หรือรีบพามาพบจิตแพทย์ เพื่อขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ
ข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต