อาหารแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
การควบคุมอาหาร และเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อให้สามารถเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้อง
หมวดอาหารแลกเปลี่ยน
อาหารแลกเปลี่ยน 1 ส่วน ในหมวดเดียวกันจะให้พลังงานและสารอาหารใกล้เคียงกันสามารถรับประทานแลกเปลี่ยนกันได้
หมวดที่ 1 ข้าว แป้ง 1 ส่วน เท่ากับ 1 ทัพพี มีโปรตีน 2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี
ในผู้หญิง ควรรับประทาน 2-3 ส่วนต่อมื้อ และสำหรับผู้ชายรับประทาน 3-4 ส่วนต่อมื้อ ซึ่งในผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง หรือขนมปังไม่ขัดสี เนื่องจากดูดซึมช้า ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว
หมวดที่ 2 ผัก ผักสุก 1 ส่วน 2 ถ้วยตวง หรือเท่ากับ 1 ทัพพี และผักดิบ 1 ถ้วยตวง หรือเท่ากับ 2 ทัพพี แบ่งออกเป็น
ผัก ก. คือ ผักที่ให้พลังงานน้อยมาก รับประทานได้ตามต้องการ ได้แก่ ผักกาดขาว ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ แตงกวา บวบ ฟักเขียว เป็นต้น
ผัก ข. คือ ผักที่มีคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี
อาหารกลุ่มนี้มีวิตามินและใยอาหารมาก ซึ่งใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมันได้
หมวดที่ 3 ผลไม้ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานเพียง 1 ชนิดต่อมื้อ และหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ละมุด ขนุน
หมวดที่ 4 เนื้อสัตว์สุก 1 ส่วน 30 กรัม เท่ากับ 2 ช้อนโต๊ะ หรือ เนื้อสัตว์ดิบ 40 กรัม มีโปรตีน 7 กรัม มีปริมาณแคลอรี เพิ่มตามไขมัน เป็น 35, 55, 75 และ100 กิโลแคลอรี่
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง
หมวดที่ 5 ไขมัน 1 ส่วน เท่ากับ 1 ช้อนชา ให้ไขมัน 5 กรัม และพลังงาน 45 กิโลแคลอรี่
ควรเลือกใช้น้ำมันพืชเนื่องจากไม่มีโคเลสเตอรอล หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารใส่กะทิ เบเกอรี่ต่างๆ
หมวดที่ 6 นม 1 ส่วน เท่ากับ 240 มล. มีโปรตีน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม ปริมาณพลังงานแตกต่างกันตามปริมาณไขมันในนมชนิดนั้น ๆ
ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย หลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรส และนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เนื่องจากมีการเติมน้ำตาล
การควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรรับประทานอาหารแลกเปลี่ยนอย่างถูกต้อง และครบทั้ง 5 หมู่