การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมอง
April 10 / 2025

เลือดคั่งในสมอง

หากเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง แขนขาเริ่มอ่อนแรง พูดจาไม่ชัด สายตาเบลอมองเห็นภาพทับซ้อน หรือรู้สึกเวียนหัวจนทรงตัวไม่อยู่อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ ภาวะเลือดคั่งในสมอง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตและส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดในสมองจนทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

ภาวะเลือดคั่งในสมองเกิดจากความเสียหายของหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดในสมองแตกหรือเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรงถึงขนาดทำให้เกิดเลือดออกสะสมไปกดทับเนื้อเยื่อสมองจนทำให้สมองบริเวณนั้นเกิดความเสียหายมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 

วิธีหลีกเลี่ยง ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมอง

 

การลดความเสี่ยง ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมองนั้นสามารถทำได้ทันที เพียงแค่หันมาดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

1. ควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ

 

ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมอง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เส้นเลือดในสมองมีความเสียหายและเกิดการแตกหรืออุดตันได้ ฉะนั้นแล้วควรควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท

 

2. เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย

 

แนะนำสารอาหารที่ควรกินเพื่อรักษาความแข็งแรงของหลอดเลือด ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. ผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

 

สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยลดการอักเสบและส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี ผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ ผักใบเขียว คำน้า บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่

 

  1. อาหารที่มีโอเมก้า-3

 

กรดไขมันโอเมก้า-3 เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิต ลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดระดับไขมันในเลือดได้ อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า-3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ถั่ววอลนัท ถั่วเฮเซลนัท

 

  1. วิตามิน B1, B6, B12

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทและชะลอความเสื่อมของสมองได้ รวมไปถึงช่วยลดระดับสารโฮโมซิสทีนที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นเลือดและอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย

 

สารโฮโมซิสเกิดจากการเกิดการย่อยสลายสารอาหารประเภทโปรตีน โดยปกติแล้วปกติร่างกายจะพยายามกำจัดสารโฮโมซิสทีนให้กลายเป็นสารที่ไม่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและอวัยวะส่วนอื่น

 

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ

 

การออกกำลังกายจะช่วยทำให้การทำงานระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ช่วยในการเผาผลาญไขมันในร่างกายทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลง เมื่อระบบไหลเวียดโลหิตทำงานเป็นปกติความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองก็ลดลง

 

ควรออกกำลังกายในรูปแบบ Cardio เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยวันละ 30 นาที 

 

4. หลีกเลี้ยงการบาดเจ็บศีรษะ

 

การบาดเจ็บบริเวณที่ศีรษะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมองได้ เพราะเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง หลอดเลือดในสมองอาจเกิดความเสัยหายหรือฉีกขาด ทำให้ภายในศีรษะเลือดไหลออกมาสะสม ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองเกิดความเสียหายซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

อ่านรายละเอียดเพื่มเติมเกี่ยวกับภาวะเลือดคั่งในสมอง

 

สาเหตุและอาการของภาวะเลือดคั่งในสมอง

 

หากใครมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสมอง หรือ มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง แขนขาอ่อนแรง พูดจาไม่ชัด สายตาเบลอมองเห็นภาพทับซ้อน หรือ ศีรษะได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที


สามารถติดต่อสอบถามศูนย์บริการเฉพาะทางโรคระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม 053-920300 ต่อ 4000, 4098