RSV ภัยร้ายคุกคามลูกน้อย เสี่ยงปอดบวม
December 07 / 2017

RSV ภัยร้ายคุกคามลูกน้อย.... เสี่ยงปอดบวม

 

ฤดูฝน เป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักจะป่วยบ่อย สามารถติดเชื้อโรคได้หลายชนิด รวมถึงไวรัส RSV ซึ่งเป็นเชื้อหนึ่งที่อาจจะพบได้บ่อยเช่นกัน

 

 

RSV คืออะไร ?

 

RSV มีชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ได้ตั้งแต่ หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดบวมได้ โดยเริ่มต้นมักมีอาการไข้ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอมีเสมหะ ถ้าโรคเป็นรุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก

 

เมื่อเป็นโรค RSV แล้วส่งผลเสียอย่างไร ?

 

เมื่อติดเชื้อ RSV เริ่มต้นจะมีอาการของไข้หวัด แต่ถ้ารุนแรงขึ้นอาจจะเป็นปอดบวมได้ ซึ่งถ้ารุนแรงมากอาจมีระบบหายใจล้มเหลวอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

อาการของเด็กที่ติดเชื้อ RSV

 

  • เริ่มจากมีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอมีเสมหะ
  • ถ้ารุนแรงมากขึ้นจนเกิดหลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดบวม จะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ได้
  • อาจจะอาเจียน รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง

ในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคปอด หรือโรคหัวใจ มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงจาก RSV ได้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป ควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

 

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ RSV

 

อาศัยอาการและอาการแสดงเป็นหลัก โดยการซักประวัติการป่วยและตรวจร่างกายโดยแพทย์ อาจจำเป็นต้องใช้ภาพรังสีปอด (เอกซเรย์) ถ้าสงสัยว่ามีหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดบวม การวินิจฉัยเชื้อ RSV เบื้องต้น อาจทำได้โดยการเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุทางเดินหายใจส่งตรวจ (nasal swab) ได้ผลประมาณ 30 นาที อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีไวรัสหรือแบคทีเรียอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมได้เช่นกัน ถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค

 

 

การรักษาโรค RSV

 

ส่วนใหญ่รักษาตามความรุนแรงของโรคเป็นหลัก เช่น ให้ยาลดไข้ถ้ามีไข้ ให้น้ำเกลือถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ หรือถ้ามีภาวะหายใจเร็ว หอบเหนื่อย อาจต้องให้ออกซิเจนในโรงพยาบาล ถ้ามีหายใจวี๊ดๆ อาจต้องพ่นยาขยายหลอดลมหรือใช้วิธีอื่นๆ ตามความเหมาะสม กรณีที่มีภาวะการหายใจล้มเหลว ก็อาจจำเป็นต้องใส่ท่อหลอดคอและใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าอาการจะดีขึ้น เป็นต้น

 

 

การป้องกันการติดเชื้อ RSV 

 

เชื้อ RSV ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นการป้องกันทำได้โดย

  1. ผู้ดูแลเด็ก รวมถึงคนรอบข้าง ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
  2. แยกของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยเด็ก และเน้นการทำความสะอาด รวมถึงของเล่น
  3. ควรให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  4. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  5. ผู้ใหญ่ควรระมัดระวังการไปสัมผัสผู้ป่วยเด็ก

 

เชื้อไวรัส RSV ในระบบทางเดินหายใจ เริ่มต้นจะมีอาการหวัด ถ้ารุนแรงอาจจะถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว หากสงสัยว่ามีอาการควรพาลูกมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ