โรคติดเชื้อไวรัสซิกา สายพันธุ์ อันตราย ที่ต้องเฝ้าระวัง
December 07 / 2017

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

สายพันธุ์ อันตราย ที่ต้องเฝ้าระวัง

 

 

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยปกติอาการมักไม่รุนแรง อาการทุเลาลงได้ภายใน 2-7 วัน

ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจทำให้ทารกมีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทได้

 

 

การแพร่เชื้อของไวรัสซิกา

 

สามารถแพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อและไปกัดคน หลังจากได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะมีระยะฟักตัว 3-12 วัน

 

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา

 

  • ปวดศีรษะ
  • เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง
  • มีไข้ อ่อนเพลีย
  • มีผื่นแดง
  • ปวดตามข้อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ


หญิงตั้งครรภ์ หากอาการ ผื่นแดง มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ปวดศีรษะ ตาแดง ประมาณ 2-7 วันก่อนมาโรงพยาบาล กรุณาแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสซิกา

 

 

การตรวจวินิจฉัย ทำได้โดย

 

  1. การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR)
  2. การแยกเชื้อไวรัสจากตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วย 

 

 

การรักษา

 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาได้โดย เเพทย์จะทำการรักษาตามอาการของผู้ป่วย และให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ดื่มน้ำมากๆ
  3. ใช้ยาลดไข้หรือยาบรรเทาอาการปวด เช่น รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้

 

การป้องกัน

 

  1. ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และทายากันยุง
  2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 
  3. หากป่วยด้วยอาการไข้ ออกผื่น เยื่อบุตาอักเสบ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ รุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง (ถ้ามี)

สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด หากจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์และป้องกันไม่ให้ยุงกัด